การส่งเสริมภาวะสุขภาพ

การส่งเสริมภาวะสุขภาพ

ขอขอบคุณที่มาจาก : ดร.มัณทนาวดี เมธาพัฒนะ 

วันนี้ ได้อ่านเอกสาร ความรู้เกี่ยวกับ  การส่งเสริมโภชนาการในเด็ก ของ ดร.มัณทนาวดี เมธาพัฒนะ เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงขออนุญาตนำมาเล่าต่อสรุปโดยย่อ ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ดังนี้

              การส่งเสริมสุขภาพ  (Health Promotion) เป็นกระบวนการทำให้ประชาชนสามารถเพิ่มพลังอำนาจในการควบคุมและปรับปรุงภาวะสุขภาพของตนเองได้อย่างแท้จริง  เป็นการช่วยให้บุคคลทั้งที่มีภาวะสุขภาพดี  และเจ็บป่วย  หรือพิการมีสุขภาพดีขึ้น  โดยงานส่งเสริมสุขภาพ  เป็นบทบาทหลักของการพยาบาล  ซึ่งรวมถึงงานป้องกันโรค  งานการดูแลรักษาพยาบาล  งานการฟื้นฟูสมรรถภาพและการดำรงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดี  และการช่วยให้ผู้ป่วยได้สิ้นใจอย่างสงบ

การดูแลเด็กก็เช่นเดียวกัน  ไม่ได้มุ่งการแก้ปัญหาเมื่อเด็กเจ็บป่วยเท่านั้น  แต่จะรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพเด็ก  เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามศักยภาพที่มีอยู่  ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงการส่งเสริมสุขภาพ  ซึ่งพยาบาลและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องควรดูแล  ให้คำแนะนำแก่มารดาหรือผุ้เลี้ยงดู  ในประเด็น โภชนาการสำหรับเด็กแต่ละวัย ดังนี้

 

การส่งเสริมโภชนาการในเด็ก เกี่ยวกับ ความต้องการสารอาหารในเด็กแต่ละวัย /อาหารตามวัย

โภชนาการสำหรับเด็กแต่ละวัย

เด็กวัยทารก

ความต้องการสารอาหารในวันทารกและวัยเด็ก มีความเฉพาะเจาะจงและมีผลกระทบต่อทารกและเด็กแต่ละคน เนื่องจากสารอาหารทำให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการ เกิดการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่าง ๆ ทั้งด้านหน้าที่ และส่วนประกอบเพื่อให้ทำงานได้ตามปกติ ทารกและเด็กยังมีอัตราการสร้าง อัตราเมตาบอลิซึม (metabolic rate) การหมุนเวียนของสารอาหารในเซลล์ (turnover) สูงกว่าในวัยผู้ใหญ่ การรักษาระดับสารอาหารให้คงที่ในร่างกาย จึงมีความจำเป็นเพื่อให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี

แนวคิดเกี่ยวกับการให้อาหารทารก

  • 2-3 เดือนแรก เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • 1 ขวบปีแรก เป็นช่วงสำคัญของการเจริญเติบโตของสมอง
  • ภาวะอ้วนในวัยเด็กทารกสัมพันธ์กับภาวะอ้วนในผู้ใหญ่
  • ทารกปกติต้องการพลังงาน 90-120 Kcal/Kg/Day
  • น้ำ ทารกต้องการน้ำวันละประมาณ 120-160 Ml/Kg

ความต้องการสารอาหารในทารก

  1. พลังงาน

ทารกต้องการพลังงานมากกว่าผู้ใหญ่ 2-3 เท่า เนื่องจากมีพื้นที่ผิวมากกว่าเมื่อเทียบกับน้ำหนัก ทำให้เสียความร้อนสูง มีอัตราเมตาบอลิซึมสูง โดยปกติทารกต้องการพลังงาน 100 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม/วัน

  1. โปรตีน

ความต้องการโปรตีนในทารกสูงกว่าในช่วงชีวิตวัยอื่น ๆ ของชีวิต การขาดโปรตีนทำให้เติบโตช้า ความต้องการโปรตีนสำหรับทารกไทย ตามตารางที่ 2.1.2

 

  1. คาร์โบไฮเดรตและไขมัน

คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งให้พลังงาน  ทารกอายุ 0-5 เดือนต้องการวันละประมาณร้อยละ 40 ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด  โดยได้จากแล็กโทสในน้ำนมอย่างเดียว  ทารกอายุ 6-11 เดือนต้องการคาร์โบไฮเดรตวันละประมาณ  ร้อยละ 45-65  ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด  โดยได้จากน้ำนม ข้าว  แป้ง และผลไม้

ไขมันเป็นแหล่งพลังงานและสำคัญสำหรับการพัฒนาระบบประสาทส่วนกลาง  และเก็บสะสมเป็นไขมันในร่างกาย  ไขมันในนมทำให้ทารกรู้สึกอิ่ม  ทำให้เว้นช่วงเวลาให้น้ำนมได้  เพราะไขมันในน้ำนมแม่เหมาะสมสำหรับทารก  ปัจจุบันนมผสมพยายามเลียนแบบไขมันในน้ำนมแม่โดยเติมโอเมกา 3, DHA, EPA ลงไป  แต่ก็อาจมีไขมันบางชนิดในน้ำนมแม่ที่ยังไม่สามารถเติมลงในนมผสมได้ (Insel, Turner, & Ross, 2002) ความต้องการไขมันของทารก คือ ร้อยละ 50 และร้อยละ 40 ของพลังงานทั้งวัน  สำหรับทารกอายุ 0-5 เดือน  และสำหรับทารก 6-11 เดือน (กองโภชนาการ,2546) ซึ่งในน้ำนมแม่มีปริมาณไขมันเท่ากับสันส่วนของไขมันที่ทารกต้องการ

  1. น้ำ

น้ำมีความสำคัญต่อการมีชีวิต  เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย  ปริมาณน้ำในทารกประมาณร้อยละ 75-80 ของน้ำหนักตัว  ทารกต้องการน้ำ 1.5 มิลลิลิตร/กิโลแคลอรี  หรือ 150 มิลลิลิตร/กิโลกรัม/วัน  ผู้ใหญ่ต้องการ 1 มิลลิลิตร/กิโลแคลอรี  (Insel, Turner , & Ross, 2002) น้ำนมแม่มีสารอาหารครบสำหรับทารก  และให้น้ำเพียงพอกับความต้องการ  ทารกที่ได้รับนมผสมก็เช่นกันถ้าผสมสัดส่วนได้ถูกต้อง  ดังนั้นทารกอายุแรกเกิดถึง 6 เดือน ไม่จำเป็นต้องได้รับน้ำเสริม การให้น้ำหรือน้ำผสมกลูโคสจะทำให้ทารกได้รับน้ำนมน้อยลง  เมื่อทารกได้อาหารที่นอกเหนือจากนม  ทารกจึงควรได้รับน้ำเพิ่มเติม

ความต้องการน้ำของทารกอายุ 0-5 เดือน ขึ้นกับปริมาณนมที่ทารกได้รับจากน้ำนมแม่  ทารกอายุ 6-11 เดือน ต้องการน้ำ 800 มิลลิลิตร/วัน  (กองโภชนาการ, 2546)

  1. วิตามินและเกลือแร่

ทารกที่ได้รับน้ำนมแม่และนมผสมอย่างถูกสัดส่วนจะได้วิตามินและเกลือแร่เพียงพอ  เนื่องจากในนมผสมจะมีกสนเติมวิตามิน  เกลือแร่ที่จำเป็น  ตามข้อกำหนดของสารอาหารที่ควรได้รับ  น้ำนมแม่มีวิตามิน  เกลือแร่ที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการ  แต่มีบางตัวที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษดังนี้

  • วิตามินดี เป็นวิตามินที่ช่วยดูดซึมแคลเซียม  การสร้างกระดูก  น้ำนมแม่ที่มีวิตามินดีต่ำช่วยโดยให้ทารกถูกแสงแดดอ่อนๆ  การขาดวิตามินดีพบน้อยมาก  ในกลุ่มเสี่ยง  เช่น  ทารกผิวคล้ำ  ไม่ถูกแสงแดด แม่ขาดวิตามินดี  ควรให้เสริม 10 ไมโครกรัม (400 IU)/วัน
  • วิตามินเค จำเป็นในการสร้างโปรธรอมบิน (prothrombin)  ช่วยให้เลือดแข็งตัว  แบคทีเรียในลำไส้สร้างวิตามินเคได้  แต่ทารกแรกเกิดลำไส้สะอาด  สร้างยังไม่ได้และเก็บวิตามินไว้ได้น้อย  ดังนั้นให้วิตามินเคเมื่อแรกเกิดครั้งเดียว  หลังจากทารกได้รับน้ำนมแม่หรือนมผสมทารกจะได้รับวิตามินเคเพียงพอ
  • วิตามินบีสิบสอง จำเป็นสำหรับการแบ่งตัวของเซลล์ และการทำงานของโฟเลต  ในแม่ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์  นม ไข่ ถ้าได้อาหารมังสวิรัติควรให้วิตามินบีสิบสองเสริมทั้งในแม่และทารก
  • เหล็ก มีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก  ถ้าขาดเกิดภาวะซีดได้  เหล็กในน้ำนมแม่มีน้อย  แต่สามารถถูกดูดซึมได้ร้อยละ 50 ในนมผสมดูดซึมได้ร้อยละ 4 ทารกเก็บสะสมเหล็กขณะอยู่ในครรภ์ได้ถ้าแม่ได้รับอาหารที่มีเหล็กเพียงพอ   ในทารกปกติมีเหล็กสะสมตั้งแต่แรกเกิดถึง 2-3 เดือน  อายุ 4 เดือนเหล็กจะเริ่มลดต่ำลง  ทารกที่ได้รับน้ำนมแม่ต้องได้เหล็กเสริมเมื่ออายุ 4-6 เดือน ทารกที่ได้รับนมผสม แนะนำให้เหล็กตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเสริมในนมผสม
  • ฟลูออไรด์ มีความสำคัญสำหรับการสร้างฟัน  ในน้ำนมแม่มีน้อย  ทารกควรได้รับการเสริมเมื่ออายุ 6 เดือน  ยกเว้นอยู่ในชุมชนที่มีแหล่งน้ำเติมฟลูออไรด์  ทารกที่ได้รับนมผสมที่ใช้น้ำที่ผสมฟลูออรไรด์ไม่ต้องเสริม
  1. นม

นมเป็นอาหารสำหรับทารก  โดยเฉพาะทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน  หลังจากนั้นจะได้นมและอาหารตามวัยจนถึงอายุ 1 ปี น้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดี

 

7 .อาหารเสริมตามวัย

ทารกตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 เดือน จะไดรับนำนมมารดา หรือนมผสมเป็นอาหารหลัก หลังจากนั้นจะได้อาหารอื่นที่ไม่ใช่นม คือ อาหารเสริมขึ้นมาจากปกติ หรืออาหารตามวัยซึ่งมีคำเรียกต่าง ๆ กัน เช่น complementary food หรือ supplementary food  หรือ solid food จุดเริ่มของการให้อาหารเสริม คือ ความต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเหล็ก เพราะในน้ำนมมารดามีน้อย เหล็กที่สะสมในทารกลดลง และทรรกมีความพร้อมทางร่างกายและ สรีรภาพ

 

แนวทางการบริโภคอาหารเด็กวัยก่อนเรียนอายุ  1-3  ปี

เด็กที่ยังกินนมแม่ก็ให้กินต่อไปได้  เพราะจะช่วยเสริมให้เด็กได้โปรตีนคุณภาพสมบรูณ์  (complete protein)  เมื่อถึงระยะหยุดนมแม่ให้ดื่มนมสดสลับถั่วเหลืองวันละ  3 – 4 ถ้วยตวง  เด็กวัยก่อนเรียนควรได้รับอาหารวันละ  3- 4 มื้อ  เพราะแต่ละมื้ออาจบริโภคได้ในปริมาณน้อยจึงให้มีมื้อว่างเสริมจากมื้อหลัก  เด็กวัยก่อนเรียน 1-3 ปี  ต้องการโปรตีนวันละ  1.8  กรัมต่อน้ำหนักร่างกาย  1  กิโลกรัม  นอกจากโปรตีนที่ได้จากนมแล้วควรได้จาก  เนื้อสัตว์  ปลา  ไข่  ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์  เช่น  เต้าหู้  และโปรตีนจากพืช  เช่น  ข้าว  ผัก  และผลไม้

 

แนวทางการบริโภคอาหารเด็กวัยก่อนเรียนอายุ 4-6 ปี

เด็กวัยนี้โตพอที่จะบริโภคอาหารพร้อมสมาชิกอื่นในครอบครัวได้แล้วแต่ควรให้ได้รับอาหารที่มีโปรตีนอย่างเพียงพอ คือ วันละ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักร่างกาย 1กิโลกรัม เด็กวันก่อนเรียนมักมีปัญหาการขาดพลังงาน ดังนั้นการจัดอาหารควรให้มีอาหารที่ให้พลังงานอย่างเพียงพอ เด็กในวัยนี้บริโภคอาหารได้มากขึ้นอาจเพิ่มปริมาณข้าว และอาหารมื้อว่างอีกวันละ 1-2 มื้อ โดยเป็นนมสดสลับนมถัวเหลือง ในการจัดอาหารให้เด็กวัยก่อนเรียน 1 วันควรมีอาหาร ดังนี้

หลักการกำหนดอาหารสำหรับเด็กวัยก่อนเรียน

ในการกำหนดรายการอาหารควรกำหนดให้มีลักษณะ ดังนี้

  1. ลักษณะสัมผัส อาหารจัดควรมีลักษณะอ่อนนุ่ม ไม่กรอบ แข็ง หรือเหนียวเกินไป เพราะระยะนี้เหงือกฟันยังไม่แข็งแรง อาหารมีลักษณะเหนียว เช่น เนื้อหมู ต้องต้มเคียวให้เปื่อย หรือสับให้ละเอียด
  2. รสอาหาร อาหารที่จัดควรมีรสอ่อน ๆ คือ ไม่เค็ม เปรี้ยว และหวานจัดเพราะการบริโภครสเค็มจะมีต่อการทำงานของไต ส่วนรสหวานจะทำให้เด็กติดรสหวาน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องหาวิธีการแก้ไข มีการรณรงค์โครงการเด็กไทยไม่เกินหวาน โดยกองโภชนาการ เพราะทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  3. สี การจัดอาหารสำหรับเด็กต้องคำนึงเรื่องสีสันของอาหารให้มากเพื่อเป็นการจูงใจให้เด็กอยากบริโภคอาหาร สีควรเป็นสีตามธรรมชาติของอาหารเอง เช่น การเลือกใช้ ผัก และผลไม้ที่มีสี เขียว เหลือง แดง แสด ส้ม และขาว ในการประกอบอาหารแต่ละมื้อให้น่าบริโภค
  4. รูปร่าง อาหารที่จัดให้เด็กขนาดชิ้นควรพอดีคำ ไม่ควรให้อาหารที่มีลักษณะเป็นก้อนกลม โดยเฉพาะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร เพราะอาจหลุดเข้าคอทำให้ติดคอ หรือสำลักได้
  5. อุณหภูมิอาหาร อาหารที่เสิร์ฟให้เด็กวัยก่อนเรียนไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องอุณหภูมิมากนัก เช่น แกงจืดไม่จำเป็นต้องเสิร์ฟขณะที่ยังร้อน แต่ควรรอให้อุ่นเกือบเย็นก่อนจึงเสิร์ฟ
  6. วิธีการประกอบอาหาร เด็กวัยนี้อาจจัดอาหารให้บริโภคซ้ำบ่อยๆ ได้ เช่น มื้อเช้าแกงจืด มื้อเย็นอาจเป็นแกงจืดอีกก็ได้ อาหารที่ปรุงจากไข่ให้บริโภคทุกวัน หรือสัปดาห์ละ 5-7 ฟอง ส่วนเนื้อสัตว์แนะนำให้บริโภคเนื้อปลาโดยเฉพาะเด็กวัย 1-3 ขวบ เพราะเป็นอาหารโปรตีนที่ย่อยง่ายเนื่องจากไม่มีไขมัน
  7. กับข้าว อาหารสำหรับเด็กวัยนี้ยังไม่ต้องพิถีพิถันในเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร เช่น มือเช้าใช้ปลา มื้อกลางวันก็อาจใช้ปลาได้อีก
  8. ผลไม้ ผลไม้ที่จัดให้เด็กวัยนี้ควรเป็นผลไม้ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม สะดวกต่อการเคี้ยว และกลืน ไม่ควรจัดผลไม้ดองให้บริโภค

 

เอกสารอ้างอิง

พรทิพย์ ศิริบูรณ์พิพัฒนาและคณะ. (2555). การพยาบาลเด็กเล่ม 1. (พิมพ์ครั้งที่ 1).  กรุงเทพฯ: ธนาเพรส.

สำนักโภชนาการ. (2546). ปริมาณสารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. เข้าถึงเมื่อ 18

2558, จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/temp/main/view.php?group=2&id=132.

Holden, C., & Macdonald, A. (2000). Nutrition and Child Health. (1st ed.). London, United

Kingdom.

 

 อ.วีนะ  อนุตรกุล

Previous Post Next Post

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *