เสริมสร้างพัฒนาการเด็กวัยก่อนเรียนด้วยของการส่งเสริมการเล่นของเด็ก
ดร.ยุพาวรรณ ทองตะนุนาม
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี
เด็กวันก่อนเรียน (Preschool age) หมายถึงเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 3-6 ปี ตามทฤษฎีของฟรอยด์ (Freud theory) เกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านพัฒนาการทางจิตและเพศ ( Psycho-sexual development) ระบุว่าเด็กช่วงก่อนวัยเรียน ในช่วงอายุ 2-3 ปี เป็นระยะที่มีพัฒนาการในระยะทวารหนักหรือขับถ่าย (Anal stage) เป็นระยะที่เด็กได้รับความพึงพอใจถ้าได้ขับถ่าย หากพ่อแม่เข้มงวด กวดขันกับการฝึกขับถ่ายมากเกินไปในระยะนี้ โตขึ้นเด็กจะมีนิสัยดื้อรั้น เข้มงวดกวดขัน เจ้าระเบียบ และมีอารมณ์เครียดบ่อยๆได้ ส่วนในช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นระยะอวัยวะเพศ (Pahllic stage) อยู่ในระยะที่เด็กสนใจอวัยวะเพศของตน เป็นระยะที่เด็กสนใจความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชาย เด็กเริ่มสนใจความรักจากพ่อแม่ที่มีเพศตรงข้ามกับตนเองและเลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ที่มีเพศเดียวกับตน (Odious complex) นอกจากนั้นตามทฤษฎีพัฒนาการของอิริกสัน (Erickson’s psychosocial stage of development) ยังระบุว่าเด็กก่อนวัยเรียน ช่วงอายุ 1-3 ปี จะอยู่ในช่วงระยะที่มีอิสระกับความสงสัยไม่แน่ใจ เป็นระยะที่เด็กพยายามใช้คำพูดของตนเองและสำรวจโลกรอบๆตัว ถ้าพ่อแม่สนับสนุนจะทำให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเอง และมีอิสระ และเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 4-5 ปี จะเป็นระยะที่มีความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิด เด็กจะชอบเล่นและเรียนรู้บทบาททางสังคม ริเริ่มทางความคิดจากการเล่น เด็นที่ถูกห้ามไม่ให้ทำอะไรในสิ่งที่เขาอย่างทำ เป็นเหตุให้เด็กรู้สึกผิดตลอดเวลา บิดามารดาควรพิจารณาร่วมกันว่ากิจกรรมใดที่ปล่อยให้เด็กทำได้ ก็ควรให้เด็กทำด้วยตนเอง จะทำให้เด็กเกิดคุณค่าในตัวเองและลดความรู้สึกผิดลงได้ ส่วนทฤษฎีพัฒนาการของซัลลิแวน (Sullivans’s development of personality) ได้แบ่งเด็กช่วงอายุ 2-4 ปี อยู่ในระยะวัยเด็กตอนต้น คือเป็นระยะที่เด็กจะเริ่มเรียนรู้ภาษา เริ่มพูดได้ เดินได้ ก็จะเริ่มที่จะเรียนรู้ว่า ทำอย่างไรจะทำให้ผู้ใหญ่รักตนเอง ดังนั้นพัมนาการที่สำคัญของเด็กวัยก่อนเรียน จะมีทั้งพัฒนาการทางกายในการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การเดิน พัฒนาการทางด้านความคิดและบุคลิกภาพในการเรียนแบบบทบาทของพ่อแม่ การเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบ และความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กมีหลายด้าน แบ่งออกเป็น ปัจจัยด้านร่างกายของเด็ก ได้แก่ จากพันธุกรรม ฮอร์โมน การเจริญเติบโตในครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนของมารดาขณะคลอดและความเจ็บป่วยของเด็กเอง และปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัจจัยด้านครอบครัว รายได้ของครอบครัว การเลี้ยงดูโภชนาการ สิ่งแวดล้อมและนวัตกรรม เป็นต้น การส่งเสริมพัฒนาการสามารถทำได้ทั้งการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย หรือการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่มากกว่าช่วงวัยของตนเอง การส่งเสริมพัฒนาการมีได้หลายรูปแบบทั้งแบบเฉพาะเจาะจง เช่น การส่งเสริมด้านภาษา หรือจะเป็นการส่งเสริมแบบทั่วไป การเล่นเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ช่วยพัฒนาสติปัญญา ฝึกความมีระเบียบวินัยแก่เด็ก ช่วยให้เด็เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี เกิดความกล้าและความเชื่อมั่นในตนเอง มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ ดังนั้นการเลือกของเล่นให้เหมาะสมตามวัยและไม่เกิดอุบัติเหตุจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรสนับสนุนอย่างยิ่ง
กิจกรรมที่ควรชวนเด็กเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการในช่วงก่อนวัยเรียน ได้แก่ การพาเด็กเดินรอบบ้านชี้ให้สังเกตสิ่งต่างๆ หมั่นพูดคุยด้วยคำพูดที่ชัดเจน ชวนเด็กแปรงฟัน สนับสนุนให้ลูกพูด จัดหาของที่มีรูปร่างแปลกๆ หัดขีดเขียน หัดนับเลข แยกกลุ่ม ผู้ป่วยปกครองต้องให้ความสำคัญกับการตอบคำถามของเด็ก เล่าเรื่องจากภาพ ฝึกให้เด็กจับดินสอ วาดรูปตามความคิด ฝึกความช่างสังเกตของเด็ก เล่นทายอะไรเอ่ย แต่งตัว ไปห้องดน้ำเองและลองทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง หัดเดินบนไม้กระดานแผ่นเดียว หัดทรงตัวขาเดียว ฝึกทำงานบ้าน สอนการข้ามถนน เป็นต้น สิ่งกิจกรรมและของเล่นเหล่านี้จะช่วยให้เด็กได้มีการพัมนาการได้สมวัยและส่งเสริมพัฒนาการในวัยเรียนและเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วและมีเป็นบุคคลที่มีคุณภาพในสังคมต่อไป
จิรนันท์ วีรกุล. (2563). การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 1-6 ปี. สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2563 จาก http://www.med.nu.ac.th/dpMed/fileKnowledge/51_2016-01-25.pdf
สุชีวา วิชัยกุล. (2563). การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการ. สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2563 จาก https://administer.pi.ac.th/uploads/eresearcher/upload_doc/2015/academic/1432867351904378004446.pdf.
สุภาภรณ์ พยัคฆเรือง. (2557). มุมมองของผู้ดูแลต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็กศูนย์พัฒนาการเด็กเล็ก. Journal of Nurse Science. 32(2): 62-70.